ยินดีต้อนรับเข้าสู่สภาองค์กรชุมชนตำบลดอนศิลา สภาประชาชนโดยมีกฎหมายรองรับ ตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.๒๕๕๑

วันอาทิตย์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เรียนรู้ การจัดการตนเองกับสภาองค์กรชุมชนตำบล ดอนศิลา

          เมื่อปี ถึงสองปีที่ผ่านมา  หลายท่านอาจได้ยินคำว่า "ตำบลจัดการตนเอง"  จริง ๆ  แล้วไม่ใช่คำใหม่อะไร  มันคือความพยายามในการพึ่งพิงตนเอง  จัดการตนเองในทุก ๆ  ด้าน เพื่อดำรงชีวิตอย่างมีความสุข  โดยไม่ใช่การ "รอ"  ให้ใครสักคนมาช่วยเหลือ  รวมถือนโยบายการช่วยเหลือต่าง ๆ  จากรัฐบาลหรือหน่วยงานต่าง ๆ  เพียงอย่างเดียว
          ความเข้มแข็งใด ๆ  ไม่จำเป็นต้องพร้อมในทุก ๆ ด้านแล้วค่อยลงมือทำ  แต่หากเราสามารถเริ่มทำจากจุดเล็ก หรือคนไม่กี่คนเข้ามาร่วมมือกัน  สานต่อ ทักทอ สิ่งต่าง ๆ  เข้าด้วยกัน   มันจะทำให้เราเห็นพลังแผ่ออกไปอย่างกว้างขวาง
          สภาองค์กรชุมชนตำบลดอนศิลา ก็เช่น  จุดเริ่มมาจากกลุ่มผู้หญิงที่เริ่มคุยกันจากเรื่องอาชีพ  และขยับประเด็นมาเป็นกองทุนสวัสดิการชุมชนเพื่อแรงงานนอกระบบ  เกี่ยวร้อยกลุ่มต่างๆ เข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มออมทรัพย์ ธนาคารหมู่บ้าน  กลุ่มหัตถกรรม  กลุ่มเกษตร  กลุ่มแปรรูปอาหารฯ  กลุ่มดูแลสิ่งแวดล้อม ฯลฯ  และมีการจัดระบบข้อมูล  การจัดหมวดประเด็นงาน  การพัฒนาบุคลากร  และค่อย ๆ ขับเคลื่อนไปอย่างช้า ๆ  และทำความเข้าใจกับชุมชน ตำบลใกล้เคียง   ในขณะเดียวกันก็มีการรวบรวมข้อมูล  วิเคราะห์ปัญหา  ส่งต่อข้อเสนอและทางออกต่อแนวทางการแก้ไขและพัฒนาชุมชนให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน  ไปยังหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ  เช่น  สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์   สำนักงานสหกรณ์จังหวัด  กรมตรวจบัญชีสหกรณ์จังหวัด  สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร  สำนักงานพัฒนาชุมชน  สถาบันการศึกษา และมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย สภาพัฒนาการเมือง  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน  ฯลฯ ต่างเข้ามาสนับสนุนให้ความร่วมมือมากขึ้น  ยิ่งทำให้คณะกรรมการมีความมั่นใจในการเดินหน้าเพื่อพัฒนาชุมชนต่อไป
          ดังเหมือนสองวันที่ผ่านมา (วันที่ 8-9 สิงหาคม 2555)  สภาองค์กรชุมชนตำบลดอนศิลา ได้ถูกคัดเลือกให้เป็นตำบลต้นแบบอีกครั้งของจังหวัดเชียงราย  1 ใน 15 แห่ง ของประเทศไทย  ที่จะหยิบยกประเด็นการขับเคลื่อนงานหลัก ๓ เรื่องเพื่อนำเสนอต่อสาธารณะ  ประกอบด้วย  เรื่องการจัดการกองทุนสวัสดิการชุมชนท้องถิ่น ต.ดอนศิลา   การพัฒนาส่งเสริมอาชีพและรายได้สำหรับผู้พิการและสตรี  และการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน  กล่าวคือ
          การขับเคลื่อนกองทุนสวัสดิการชุมชนท้องถิ่น ตำบลดอนศิลา เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550  โดยการรวมตัวกันของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแรงงานนอกระบบ ที่ร่วมกันผลักดัน พรบ. ประกันสังคมมาตรา 40 ปรับเปลี่ยนจากการออมทรัพย์ มาเป็นการออมเพื่อสวัสดิการชุมชน  และได้รับการสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) พอช.  เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน  ซึ่งทางกองทุนมีการบริหารจัดการเงินกองทุนไม่ให้ซ้ำซ้อนกับ กลุ่มออมทรัพย์หรือธนาคารหมู่บ้าน   กล่าวคือ  กองทุนจะไม่มีการปล่อยกู้เพื่อเพิ่มภาระหนี้สินหลายทางให้กับสมาชิกในตำบล  และหากเก็บในไว้ธนาคารเพียงอย่างเดียว  ปีหนึ่งก็ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารเพียงน้อยนิด   คณะกรรมการจึงเห็นสมควรร่วมกัน  โดยแบ่งเงินกองทุนส่วนหนึ่งมาฝากไว้กับกลุ่มออมทรัพย์  ซึ่งจะได้เงินปันผลจาการกำไรสุทธิของกลุ่มออมทรัพย์ทุกปี  และเป็นการเพิ่มทุนให้กับกลุ่มออมทรัพย์อีกด้วย   ที่ผ่านมากองทุนสวัสดิการฯ ตำบลดอนศิลา  ได้รับเงินปันผลเพียงพอต่อการบริหารจัดกองทุน รวมถึงการจ่ายสวัสดิการแก่สมาชิก  โดยไม่กระทบต่อเงินออมของสมาชิกที่มีอยู่เลย
          ส่วนการพัฒนาส่งเสริมอาชีพและรายได้สำหรับผู้พิการและสตรีนั้น  มีการเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเวียงชัย  สำนักงานเกษตรอำเภอเวียงชัย  การทำงานร่วมกับโรงพยาบาลสมเด็จพระญาณสังวร  องค์การบริหารส่วนตำบลดอนศิลา  สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  ฯลฯ   ซึ่งเน้นเรื่องการสร้างเครือข่ายเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  การพัฒนาผลิตภัณฑ์และการตลาดได้กว้างขวางมากขึ้น  รวมถึงการพัฒนาระบบข้อมูล  โครงการฯ  เพื่อเข้าถึงแหล่งงบประมาณในการพัฒนากลุ่มอาชีพอย่างต่อเนื่อง
          เรื่องสุดท้ายเป็นการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินโดยชุมชนนั้น  จากข้อมูลเรื่องข้าวนั้น พบว่า ปัจจุบันเกษตรกรส่วนใหญ่ มีปัญหาเรื่องที่ดินหลุดมือ  เป็นหนี้  หรือมีที่นาแต่ไม่เพียงพอ จึงมีการเช่าที่นาเพิ่ม  คณะกรรมการชุมชนบ้านสมานมิตร  ซึ่งเป็นกลุ่มสมาชิกของสภาองค์กรชุมชนตำบล   จึงได้ศึกษาและเรียนรู้กับชุมชน ภาคีอื่นในจังหวัดและนอกจังหวัด  จึงได้นำแนวคิดเรื่องโฉนดชุมชนมาปรับใช้   และได้ดำเนินงานตามบันได 9 ขั้น  จึงขอจัดให้มีโฉนดชุมชนบ้านสมานมิตร
 


          จากการดำเนินงานดังกล่าวอาจส่งผลให้ชุมชนใกล้เคียงที่ยังไม่่เข้าใจแนวคิดการจัดการที่ดินโฉนดชุมชน คัดค้านต่อ คณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.)  และคณะกรรมการดำเนินงานก็ไม่นิ่งนอนใจ  พยายามพัฒนาข้อมูล และทำความเข้าใจอย่างรอบด้านต่อไป รวมถึงการจัดตั้งกองทุนธนาคารที่ดินและที่อยู่อาศัยเพื่อสวัสดิการชุมชน คนตำบลดอนศิลา  โดยหวังเพียงว่า  จะสามารถช่วยเหลือ บรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องคนยากคนจน ในด้านที่อยู่อาศัย  ที่ดินทำกิน และช่วยกันรักษาผืนดินไว้ให้กับคนในตำบลได้นานที่สุด  ก่อนที่จะตกเป็นคนอื่น หลังจากประเทศไทยเปิดรับอาเซียนอย่างเต็มตัวในปี พ.ศ. 2558
          การลงพื้นที่ถ่ายทำสารคดีชุมชนต้นแบบ  โดยทีวี บูรพา   ได้สร้างการเรียนรู้ให้กับคณะทำงานสภาองค์กรชุมชนตำบลอีกด้านหนึ่ง  เกี่ยวกับการพัฒนาสื่อโดยชุมชน   สมาชิกในชุมชนก็ได้เรียนรู้ร่วมกับสมาชิกสภาฯ เช่นกัน  และเข้าใจแนวทางการขับเคลื่อนงานสภาฯ มากขึ้น
           จึงขอขอบคุณผู้นำทุกท่าน  คณะกรรมการทุกคน  และทีมงานถ่ายทำสารดคี  ไว้ ณ ที่นี้ด้วย..



วันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ฝึกอบรมเย็บกระเป๋าด้นมือผ้าญี่ปุ่น โดยการสนับสนุนของสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ.เชียงราย



กองทุนสวัสดิการชุมชนท้องถิ่นตำบลดอนศิลา  ได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อพัฒนาอาชีพเพื่อการออม เป็นเงิน   ๒๑,๓๑๐  บาท  มีผู้เข้าร่วมฝึกอบรมจำนวน ๒๔ คน  โดยการจัดฝึกอบรมเมื่อวันที่ ๑ -๓ กรกฎาคม ๒๕๕๕ ณ  อาคารเอนกประสงค์หมู่บ้านดอนเหนือหมู่ ๑๖ ที่ผ่านมา 

นอกจากนี้สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  สำนักงานประกันสังคมจังหวัดเชียงราย สำนักงานสาธารณะสุขจังหวัดเชียงราย  ได้ให้เกียรติออกหน่วยมาเยี่ยมชมการฝึกอบรมฯ ดังกล่าวด้วย


 

ประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลดอนศิลา เพื่อคัดเลือกสมาชิกและคณะกรรมการบริหารเมื่อครบวาระ ๔ ปี


สภาองค์กรชุมชนตำบลดอนศิลา  ได้จัดประชุมเพื่อคัดเลือกสมาชิกสภาฯ  และคณะกรรมการบริหารกิจการสภาฯ เมื่อครบวาระ ๔ ปี  เมื่อวันที่ ๒๓  มิถุนายน ๒๕๕๕  ณ หอประชุมหมู่บ้านจงเจริญ หมู่ ๑๒ ตำบลดอนศิลา อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย


ที่ประชุมได้มีการรับรองสมาชิกและผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมีทีมบริหารสภาองค์กรชุมชนตำบลดอนศิลา ชุดใหม่  ประกอบด้วย 

๑) นายนิคม      เสนาป่า          ประธานสภาฯ
๒) นายสมบูรณ์  กันทา             รองประธานสภาฯ 
๓) นางอำไพ     ทวีวัฒนสมบูรณ์  รองประธานสภาฯ
๔)นางวิไล        นาไพวรรณ์       เลขานุการฯ
๕)นายกล้าหาญ  ยางศรี            ผู้ช่วยเลขานุการ
๖)นางลำไพ      สารมณี           เหรัญญิก
๗)นางสาวสุนิสา  เปาปวง          ผู้ช่วยเหรัญญิก
๘)นายอเนก      สอนศรี           กรรมการตรวจสอบ
๙)นางบัวจันทร์  มโนวรรณ์         กรรมกาตรวจสอบ
๑๐) นางหฤทัย  มานะกิจ          กรรมกาตรวจสอบ
๑๑) นายวิรัตน์   พรมสอน         กรรมการตรวจสอบ



วันเสาร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2555

รองอัยการจังหวัดเชียงรายร่วมให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายประชาชนเพื่อการพึ่งตนเองด้านกฎหมายเบื้องต้น

           สภาองค์กรชุมชนตำบลดอนศิลา  จัดเวทีสิทธิชุมชน  สิทธิทางกฎหมาย เพื่อการพึ่งตนเองด้านกฎหมายเบื้องต้น  เมื่อวันที่ ๒๒  กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕  ณ ห้องประชุม๒ องค์การบริหารส่วนตำบลดอนศิลา อ.เวียงชัย  โดยมีคุณดิเรก  จันทร์ธิมา  รองอัยการจังหวัดเชียงราย ร่วมให้ความรู้แลกเปลี่ยนข้อติดขัดด้านกฎหมาย  สิทธิชุมชน  เพื่อช่วยตนเองเบื้องต้นเมื่อมีเหตุ  และคุณ ประนอม  เชิมชัยภูมิ  สมาชิกสภาพัฒนาการเมือง จังหวัดเชียงราย  ก็ร่วมแลกเปลี่ยนประเด็นตำบลจัดการตนเอง  และจังหวัดเชียงรายจัดการตนเองได้อย่างไร  งานนี้กลุ่มสตรีให้ความสนใจเข้าร่วมมากเป็นพิเศษ

วันพุธที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2555

สภาองค์กรชุมชนตำบลดอนศิลา ขยายผลการพัฒนาเว็บไซต์ตำบล

   

สภาองค์กรชุมชนตำบลดอนศิลา  ได้พัฒนาการแกนนำด้านการจัดการข้อมูลเพื่อการสื่อสารนั้น   จนมีความสามารถพัฒนาฝีมือและถ่ายทอดความรู้ให้ผู้นำสภาองค์กรชุมชนตำบลอื่น ๆ  ได้  

เครือข่ายสภาองค์กรชุมชน จังหวัดเชียงรายจึงสนับสนุนงบประมาณบางส่วนเป็นค่าอาหาร  สำหรับผู้นำที่สนใจพัฒนาเว็บไซต์ตำบลของตนเอง จึงจัดฝึกอบรมจัดฝึกอบรมพัฒนา Webmaster ตำบลขึ้นเป็นครั้งที่ ๒  เพื่อพัฒนาระบบการสื่อสารกันทั้งภายในและสู่สาธารณะ โดยมีเป้าหมายร่วมกัน คือ การสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลกันระหว่างตำบลและภายในระดับจังหวัด โดยไม่ต้องรอการประชุมเครือข่ายฯ ระดับจังหวัด และเพื่อให้แก่การทำงานร่วมกัน  ในวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๕๕ ณ ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค จังหวัดเชียงราย ที่เอื้ออำนวยสถานที่ฝึกอบรม

วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555

สวัสดิการชุมชนตำบลดอนศิลา

การ จัดการสวัสดิการชุมชนตำบลดอนศิลา เริ่มขึ้นการจากแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเครือข่ายแรงงานนอกระบบภาคเหนือ  ที่เคยผลักดันการจัดสวัสดิการสังคมให้กับผู้ใช้แรงงานนอกระบบ  จนเติบโตมาเป็นประกันสังคม มาตรา ๔๐ และมีการประกาศใช้ เมื่อไม่นานมานี้   

จากกระบวนการเรียนรู้จากภายนอก  และการวิเคราะห์จากภายใน  พบว่า  ทุกหมู่บ้านมีการออมทรัพย์  กลุ่มอาชีพทุกกลุ่มมีการออมทรัพย์     แต่ทุกกลุ่มล้วนออมเพื่อกู้   หรือเพื่อไปขอกู้จากสถาบันการเงินภายนอก

เมื่อเปรียบเทียมสมัยเรายังเด็ก  มีเพียงกลุ่มออมทรัพย์ที่มีเป้าหมายสร้างทุนในชุมชน  สร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนของคนจนคนเขียนหนังสือไม่เก่ง  โดยมีขั้นตอนและกติกาไม่มากนัก   ในสมัยนั้นใครเป็นหนี้ ถือว่าเป็นเรื่องน่าอาย  ไม่กล้าเปิดเผย  แต่พอรู้ว่าคนในชุมชนประมาณครึ่งหนึ่ง  ไม่เป็นหนี้เลย   
 ต่อมาเข้าช่วงยุคกองทุนหมู่บ้าน (เงินล้าน)  ก็สังเกตุเห็นพบว่า  ทุกครอบเป็นหนี้ (ตามนโยบายรัฐที่หยิบยื่นให้)   ในหมู่บ้าน ตำบลเรา  มีกลุ่มกองทุนเต็มไปหมด  แต่ทำไมเรายังยากจน  เป็นหนี้  ไม่มีเงินออม  ไม่ที่สวัสดิการที่เท่าเทียมกัน   
  
เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๔๙  จึงได้มีการแลกเปลี่ยนกับคณะทำงานขับเคลื่อนกองทุนสวัสดิการชุมชน จังหวัดเชียงราย  รู้จักกันดีในนาม "ป้าน้อง"  อำไพวรรณ  ปัญญาชัย  และแกนนำตำบลอื่น ๆ  ที่ได้ดำเนินการมาก่อนหน้านี้  กลุ่มผลิตภัณฑ์ทำมือบ้านจงเจริญ  จึงได้ประชุมกลุ่มสมาชิกปรับเงินออมเพื่อกู้  เป็นการออมเพื่อสวัสดิการ  โดยเริ่มแรก  มีการออมเพียงเดือนละ ๑๐ บาท  และเพิ่ม เป็น ๒๐ บาท  และวันละบาทในที่สุด  และได้ได้ชักชวนกลุ่มอาชีพ  กลุ่มออมทรัพย์ต่าง ๆ  ในตำบล  ศึกษาและพัฒนากองทุนให้มีความเข็มแข้ง  มีคณะกรรมการ  มีกติกาในการบริหารจัดการกองทุน ในปี พ.ศ. ๒๕๕๐   และได้รับการรับรองเป็นองค์กรสาธารณะประโยชน์เมื่อวันที่  ๒๓ กันยาย ๒๕๕๒


นอกจากนี้กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลดอนศิลา ยังมีการเชื่อมโยงกลุ่มออมทรัพย์ที่มีอยู่เดิม  กลุ่มการจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อม เพื่อจัดสวัสดิการทั้งที่เป็นตัวเงินและบนฐานทรัพยากรที่มีอยู่  โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานท้องถิ่น  ให้ดีขึ้น   ทั้งในเรื่องการลดภาระหนี้สิน ภาคครัวเรือนด้วย ไม่ใช่ก่อหนี้ หรือ สนับสนุนการหมุนเวียนหนี้ให้กับชาวบ้านเรื่อยไป  มีเงินพอออม  และช่วยเหลือกันยามจำเป็น   


การดำเนินงานของกองทุนจึงมีการขยายแนวคิดแบบค่อยเป็นค่อยไป  ไม่หวังปริมาณแต่เน้นความเข้าใจของทุกคนที่เข้ามาเป็นสมาชิกมากกว่า   ประกอบกับการบริหารจัดการเงินทุนของกองทุนให้เติบโต  โดยการนำเงินฝากธนาคารบางส่วน  มาฝากที่กลุ่มออมทรัพย์ของหมู่บ้าน ทำให้มีเงินทุนหมุนเวียนในชุมชนอีกทางหนึ่ง  และกองทุนก็ได้รับเงินปันผลจากเงินฝาก ร้อยละ ๘ บาทต่อปี   ซึ่งนำมาหักลบกลบหนี้กับค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายสวัสดิการให้กับสมาชิกนั้น   ยังคงมีเงินเหลืออีกจำนวนหนึ่ง  ที่จะไม่ทำให้กองทุนต้องนำเงินออมที่มีอยู่ออกมาจ่ายเป็นสวัสดิการ    ถือว่าเป็นการดำเนินงานอีกมิติหนึ่งที่ไม่สร้างภาระเพิ่มให้กับสมาชิกและกองทุน


อย่างไรก็ตามกองทุนสวัสดิการชุมชนท้องถิ่นตำบลดอนศิลา  ยังคงต้องพัฒนาการดำเนินงาน แนวคิดในการจัดการสวัสดิการชุมชนต่อไป  เพื่อให้สมาชิกได้ประโยชน์สูงสุด  และหาแนวทางลดความเสี่ยงให้มากที่สุด พร้อม ๆ  ไปกับการขยายสมาชิกให้เพิ่มขึ้นตามลำดับต่อไป

ผักพื้นบ้านอาหารพื้นเมือง การริเริ่มสู่การพึ่งตนเองของคนตำบลดอนศิลา


สมัยเด็กๆ จำได้คลับคล้ายคลับคลาว่าเคยกินผักพื้นบ้านนานาชนิด  ที่ปลูกไว้ริมรั้ว  ลานบ้าน สวนหลังบ้าน (คนเหนือเรียกว่า "สวนครัว") มีทั้งสะระแน  กระเพราะ ตระไคร้ ผักกาด  ผักชี ต้นหอม ผักชีฝรั่ง  ถั่ว  ดอกแค  มะรุม  เพกา  พริกไทย ดีปรี ฯลฯ    บางทีก็เก็บมาลวกกิน บางทีก็กินสดๆ หรือนำมาเป็นเครื่องปรุง...                     
แต่เมื่อมีการปลูกพืชตามระบบเคมีทำให้ผักพื้นบ้านหลายชนิดหายไป            
อย่างไรก็ตาม วิถีชุมชนในชนบท ก็ยังคงมีการปลูกผักสวนครัวไว้บริโภคกันอยู่ ถึงไม่มากนัก  แต่ก็มีการพยามสืบทอด  แลกเปลี่ยนเมล็ดพันธู์พื้นเมืองที่เหลืออยู่น้อยเต็มที   ซึ่งชาวบ้านหลายคนไม่ชอบใจนักหากซื้อเมล็ดพันธุ์ของบริษัทเอกชนมาปลูกแล้ว  ไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกต่อได้   เป็นการขัดต่อวิถีปฏิบัติที่สืบทอดกันมา 

อาหารพื้นเมืองทางเหนือจะต้องมีส่วนปรุงรส หรือชูรสด้วยผักพื้นบ้านภาคเหนือ ซึ่งมีเอกลักษณ์ทางด้านถิ่นกำเนิด กลิ่นและรสที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ หายากเพราะมีผลผลิตออกมาตามฤดูกาล   นอกจากนั้นยังเป็นพืชผักที่ให้คุณค่าทางด้านสุขภาพอนามัย ปลอดสารพิษ  ทำให้เป็นที่นิยมกันทั่วไป ไม่ว่าจะทำอาหารประเภทลาบ ต้ม แกง อ่อม  ล้วนต้องใช้ผักพื้นเมืองเป็นส่วนประกอบทั้งสิ้น

สภาองค์กรชุมชนตำบลดอนศิลาจัดให้มีการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์พืชผักพื้นบ้านเพื่อกระตุ้นให้เกิดการปลูกอย่างต่อเนื่อง  เพราะเล็งเห็นว่าการปลูกต่อเนื่องทุกปี  คือการอนุรักษ์ที่ยืนยาว  และมีการการติดตามผลการดำเนินงานหลังการแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์กันไปแล้ว   จนสมาชิกในชุมชนคนหนึ่งได้ต่อยอดความคิดได้ผลิตผักพื้นบ้านใส่ถุงเพื่อนำไปขาย  สร้างรายได้งามอีกทางหนึ่ง   และสมาชิกทุกคนภูมิใจและ มีความสุขที่ได้บริโภคพืชผักที่ตนเองปลูกที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ  ส่งผลให้สุขภาพดีทั้งกายและใจ